strengthening-crl

SEMINAR

การจัดอบรมบุรีรัมย์ – นนทบุรี – Webinar

          โครงการฯ ได้จัด Webinar แบบ virtual ในหัวข้อ “Situation of Plastic and Microplastic in Asia” ในวันที่ 16 มิถุนายน 2565 นอกจากนี้ทางโครงการฯ ได้นำความรู้และเครือข่ายที่ได้พัฒนาขยายผลต่อไปยังงานประชุมนานาชาติ ในหัวข้อ “Training course หลักสูตร Low Carbon Scenario Development: Waste Management Under Crisis Situations” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ จากประเทศกำลังพัฒนา

ในระดับชาติ (เทศบาล) นั้น ทางโครงการฯ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยดำเนินการในพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 2 พื้นที่ คือ เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี โดยทางโครงการฯ ได้จัดทำหลักสูตรชุดฝึกแบ่งเป็นชุดฝึกอบรมสำหรับ

  1. การจัดการขยะภัยพิบัติ (กรณีศึกษา ขยะจากการระบาดของไวรัสโควิด)
  2. การจัดการขยะอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กรณีศึกษา ขยะพลาสติก)

การจัดอบรม ณ เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี

          บรรยากาศการจัดอบรม ณ เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ วันที่ 15 – 18 พฤจิกายน 2565

          บรรยากาศการจัดอบรม ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี จ.นนทบุรี วันที่ 21 – 25 พฤจิกายน 2565

Webinar “Situation of Plastic and Microplastic in Asia” วันที่ 16 มิถุนายน 2565

          ปัจจุบันทั่วโลกมีการผลิตและบริโภคพลาสติกเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไปในอนาคต สหภาพยุโรปเล็งเห็นถึงปัญหาของปริมาณขยะพลาสติกจำนวนมากที่ถูกจัดการอย่างไม่ถูกต้องและถูกปล่อยให้ปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ มหาสมุทรและสิ่งแวดล้อม จึงจัดตั้งข้อกำหนดในการจัดการพลาสติกและการรีไซเคิลพลาสติกเพื่อใช้ในประเทศอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy target) ให้มีการรีไซเคิล 55% ของขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดในปี 2030 โดยเป็นเป้าหมายที่สูงขึ้นจากเป้าหมายการรีไซเคิลของสหภาพยุโรป (EU recycling target) ที่ถูกตั้งไว้จากเดิม คือ 22.5% ทั้งนี้ปัจจุบันสหภาพยุโรปได้บรรลุเป้าหมายเดิมนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดถูกรีไซเคิล 26%, นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตความร้อนในโรงงานปูนซีเมนต์ 32% และอีก 42% ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน (Waste to energy) (Van Eygen et al. (2018)) ซึ่งการเพิ่มสัดส่วนของการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกสามารถทำได้โดยการเพิ่มการจัดเก็บและประสิทธิภาพการคัดแยกขยะให้มากขึ้น แม้ว่าการเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลจะส่งผลดีต่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เพิ่มมากขึ้นด้วย รวมทั้งการรีไซเคิลที่มากขึ้นอาจจะส่งผลต่อคุณภาพของการรีไซเคิลที่ต่ำลง และการตลาดของพลาสติกรีไซเคิลต่อไป

          ประเทศออสเตรียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสหภาพยุโรปมีการจัดการขยะพลาสติกในประเทศโดยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน (Waste to energy) เป็นสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 41.4% ของขยะพลาสติกทั้งหมด, 18.9% ถูกนำไปรีไซเคิลด้วยกระบวนการทางกล (mechanical recycling) และขยะพลาสติกน้อยกว่า 1% ถูกนำกลับไปใช้ซ้ำ และปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ในขณะที่ภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแม่น้ำ Pasig ของประเทศฟิลิปปินส์มีปริมาณขยะพลาสติกรั่วไหลมากที่สุด คิดเป็น 6.43% ของพลาสติกรั่วไหลทั่วโลก นอกจากนี้ข้อมูลการวิเคราะห์การไหลของขยะพลาสติกในฟิลิปปินส์ยังพบว่า มีการรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม คิดเป็น 35% ของขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในประเทศ และมีการรีไซเคิลเพียง 9% เท่านั้น ขยะพลาสติกที่รั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นตัวการสำคัญในการคุกคามสิ่งมีชีวิต ทำให้เกิดไมโครพลาสติกออกมาสู่สิ่งแวดล้อมและตกค้างปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งยังมีความสามารถในการซึมเข้าสู่ร่างกายได้ด้วย ซึ่งจากการสำรวจปริมาณไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเลของประเทศฟิลิปปินส์พบว่า ฉลามวาฬเป็นสัตว์ทะเลที่พบไมโครพลาสติกมากที่สุด และงานวิจัยของ Mallik et al. 2021 และ Singh et al. 2020 ระบุว่า 92% ของไมโครพลาสติกถูกพบในกระเพาะ ตับอ่อน รังไข่ และเหงือกของปลา ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อมนุษย์ นั่นคือ การบริโภคสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ทะเล ซึ่งจะทำให้เกิดวงจรการถ่ายเทของไมโครพลาสติก นอกจากนี้ยังสามารถได้รับผลกระทบจากสาร AMP ที่มักใช้เป็นสารเติมแต่งในผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งสาร AMP เป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้มีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนน้อยลง และเป็นพิษต่อพัฒนาการของมนุษย์และการสืบพันธุ์ ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการแพร่กระจายของขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่มาจากประสิทธิภาพของระบบและกลไกการจัดการขยะพลาสติก รวมถึงระบบการบำบัดน้ำเสียที่บ่งชี้ถึงประสิทธิภาพการบำบัดไมโครพลาสติก

          ในขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นมีการตระหนักถึงปัญหาการรั่วไหลของพลาสติกลงสู่ทะเล จึงออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อควบคุมการรั่วไหลของขยะพลาสติกในประเทศ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นบัญญัติการหมุนเวียนทรัพยากรพลาสติกและการนำกลับมาใช้ใหม่ และมีการระบุการพัฒนาแนวทางสำหรับการวัดระดับ ไมโครพลาสติก ซึ่ง National Institute for Environmental Studies หรือ (NIES) เป็นหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในประเทศได้ทำการตรวจวัดและวิเคราะห์ไมโครพลาสติกโดยวิธีการที่ได้มาตราฐานใช้หลักการ Oxidation ด้วยวิธีการ ATR-FTIR (Attenuated Total Reflection Fourier Transform Infrared Spectroscopy) ซึ่งเป็นเทคนิคทางเคมีที่ใช้ในการวิเคราะห์ตรวจสอบถึงหมู่ฟังก์ชันของโมเลกุลของสาร และเป็นการวิเคราะห์ทางเคมีขั้นสูงที่ถูกพัฒนามาจาก IR spectrometer โดยอาศัยการดูดกลืนช่วงคลื่นอินฟราเรด ซึ่งทำให้เกิดการสั่นของพันธะโมเลกุล มีประสิทธิภาพในการแยกสาร นอกจากนี้ยังมีวิธีการ Scanning Electron Microscope and Energy Dispersive X-ray Spectrometer – SEM-EDS ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กล้องจุลทัศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดและอุปกรณ์วิเคราะห์ธาตุเพื่อวิเคราะห์ปริมาณและองค์ประกอบของไมโครพลาสติก รวมถึงมีการใช้วิธีการ FT-IR and GC-QMS เพื่อตรวจลักษณะของไมโครพลาสติก

          ขณะที่ประเทศไทยมีการศึกษาเกี่ยวกับการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อย และยังขาดงานวิจัยที่ครอบคลุมมาตรการในการป้องกัน หรือบรรเทาปัญหาขยะพลาสติกและไมโครพลาสติก อีกทั้งยังมีการใช้พลาสติกและสร้างขยะพลาสติกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ขยะพลาสติกในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นถึง 15% เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจส่งอาหารเดลิเวอรี่ และยังมีการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศทำให้ขยะพลาสติกในประเทศเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าประเทศไทยได้ออกนโยบาย มาตราการ และแผนการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะพลาสติก และการพัฒนาสังคมสู่เศษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งออกกรอบการทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนโดยอาศัย 3 หลักการ (Reduce, Preserve and enhance, Minimize) ร่วมด้วยการออกแบบโมเดลการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย และโปรแกรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศษฐกิจหมุนเวียนระดับประเทศ จำนวน 4 โปรแกรม และ 1 ปัจจัยส่งเสริมเศษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งแสดงถึงความตระหนักถึงปัญหาของขยะพลาสติก รวมทั้งโอกาสในการจัดการขยะพลาสติกควบคู่กับการพัฒนาสังคมสู่เศษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือและการลงมือปฏิบัติจริงตามนโยบายและมาตรการเหล่านั้นของทุกภาคส่วน เพื่อที่จะทำให้การดำเนินการสำเร็จลุล่วง